ปัญหาของแฟนเพจทางเท้าไทย (เขียนด้วยความหวังดีจริงๆ)

Korawich Kavee
4 min readMar 13, 2023

--

สวัสดีครับ ก่อนอื่นผมก็ อยากจะเริ่มต้นก่อนว่า ผมเองก็เป็นคนที่ติดตาม เพจทางเท้าหลายลายเพศมาตลอดในเฟสบุ๊ค ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยเฟซบุ๊กยัง ใหม่มากสำหรับสังคมไทย สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เขียนขึ้นด้วยความหวังดี และเขียนขึ้นด้วย ความรู้ประสบการณ์ ที่ได้จากการเรียนรู้และอยู่ในกลุ่มจิตอาสาต่างประเทศรวมถึงการมี โอกาสได้ศึกษาต่อต่างประเทศ

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักผม ก็ขอแนะนำตัว (skip ย่อหน้านี้ไปได้ถ้ารู้จักกันแล้ว) ผมเรียนวิศวกรรมโยธา ผมมีความสนใจหลายอย่าง แต่หลักๆคือผมมีความสนใจในเรื่องของระบบขนส่ง แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการ ส่งเสริมการเดินได้ปั่นได้ของเมือง และการออกแบบถนน งานวิจัยที่ผมทำปริญญาเอกตอนนี้ ผมก็สนใจที่จะนำความรู้เกี่ยวกับ สมาร์ทเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเช่น การใช้แมชชีนเลิร์นนิง Sensor การวิเคราะห์ GIS การเขียนโค้ด Python นำเข้ามาในการวิเคราะห์ และ รวมผสมกับความรู้ เกี่ยวกับระบบเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานคนเดินเท้า ซึ่งมันก็เป็นไปได้เพราะว่าผมเรียนอยู่ที่ คาร์เนกีเมลลอนยูนิเวอร์ซิตี้ เมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา การเรียนโยธาที่นี่ ค่อนข้างแทบจะเขียนความเป็นโยธาใหม่ (ซึ่งต่างจากความเป็นโยธาเก่ามากๆ แต่ประเด็นในวันนี้ไม่ใช่เรื่องนี้) ก่อนหน้านี้ผมก็เคยอยู่ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย แล้วก็เคยได้คุยกับกลุ่มคนที่สนใจเรื่องของการเดินการปั่น และตอนนี้ที่อยู่ในพิตส์เบิร์ก ก็อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า เชดดีไซด์ คอมพลีท สตรีท (Shadyside Complete Streets | Twitter, Instagram, Facebook | Linktree) ซึ่งก็ เป็นกลุ่มที่ทำงานอาสาสมัคร Advocacy เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทุกคนไม่ใช่แค่รถยนต์ ในย่าน Shadyside เป็น “เนเบอร์ฮูด” หนึ่งของเมืองพิตส์เบิร์ก

เรื่องที่เพจทางเท้าไทยส่วนมากมาถูกทางแล้ว คือการที่ทำให้เรื่องนี้มัน เป็นกระแสสังคมได้ ผมเห็นจำนวนยอดไลค์ยอดแชร์ของบางเพจแล้วก็รู้สึกดีใจนะที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนไทยหลายคนสนใจ และรวมถึงมีการเทียบกับต่างประเทศ ที่จะเห็นบ่อยๆที่สุดก็คือเทียบกับญี่ปุ่น อันนี้ดีไม่ได้มีปัญหาอะไรตรงนี้ (รู้ไหมว่า Urbanist ใน Twitter ฝั่งภาษาอังกฤษก็ยังดันได้ไม่แรงเท่าไทย นี่พูดจากที่ตัวเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) ทีนี้ ที่ผมมีปัญหา หรืออยากจะให้ลองคิดกันดู มากกว่านี้ มีดังต่อไปนี้

  1. เป็นระเบียบ ≠ Walkability

ลักษณะเนื้อหาของโพสต์ ดูเหมือนจะเน้นความเป็นระเบียบมาก มากเสียจนไม่ค่อยสนใจเรื่องของ Walkability จริงๆ แอดมินแฟนเพจหลายคนดูจะสับสนคอนเซปต์นี้พอสมควร ถ้าจะพูดให้เห็นภาพคือ สมมุติถ่ายรูป ซอยหนึ่งในกรุงเทพ มีรถเข็นขายอาหาร ถนนไม่มีเส้นอะไรเลย อย่างนี้ถือว่าควรด่าใช่ไหม ผมไม่ได้บอกว่าผมเชียร์เรื่องการขายอาหารข้างทางนะ แต่ผมอยากให้ลองคิด ว่าตกลงแล้วปัญหาจริงๆหรือความตั้งใจจริงๆที่อยากจะได้ คืออะไร เพราะความเป็นระเบียบ ไม่ได้ทำให้เดินได้ดีด้วยตัวเอง ต่อให้จัดระเบียบ มีเส้นตรงเป๊ะ ไม่มีใครขายอาหารเลย กวาดขยะสะอาด สรุปแล้ว มันปลอดภัยที่จะเดินขึ้นมาเหรอ มันน่าเดินไปขึ้นมาหรอ เพราะในกรณีนี้หลายๆซอยที่ผมเห็นคือ พอมีการทาสีใหม่ นี่แหละที่ทำให้รถและมอเตอร์ไซค์ขับเร็วขึ้น และนี่ไม่ใช่ปัญหาแค่กรุงเทพฯ เมืองในเกาหลีและญี่ปุ่นบางเมืองก็จะมีลักษณะอย่างนี้ เขาก็มักจะให้ใช้แชร์กันทั้งคนและรถ คือถ้าทำให้ รถเหมือนเป็นแขกรถก็จะขับถ้าช้า และคนเดินเท้าคนปั่นจักรยานก็จะมี Right of way แต่ถ้าเกิดว่าเราไปตีเส้นชัดเจนว่านี่คือทางที่รถจะต้องวิ่ง แบ่งเลนชัดเจน ทั้งรถทั้งมอไซค์ก็จะพุ่งมาด้วยความเร็ว แล้วก็จะกลายเป็น ไม่ปลอดภัยที่จะเดินปั่นอีกต่อไป แต่เป็นระเบียบนะ

Pedestrian Infrastructure ไม่ได้มีแค่ทางเท้า และทางเท้า ก็มีหน้าที่เป็น Public space ที่มากกว่าแค่ทางเดินผ่าน

คิดถึงคำนี้ก่อนไปข้อต่อๆไป และก็ขอฝากเรื่อง 5 โซนนี้

  • Frontage Zone: พื้นที่ติดกับแนวเขตที่ดินที่มีการสลับระหว่างทางเท้าสาธารณะกับพื้นที่ภายในอาคาร
  • Throughway Zone: ส่วนของทางเท้าสำหรับคนเดินถนนตลอดแนวถนน
  • Furnishing Zone: ส่วนของทางเท้าที่ใช้สำหรับปลูกต้นไม้ริมถนน ภูมิทัศน์ ป้ายหยุดรถ ไฟถนน และการตกแต่งสถานที่
  • Edge Zone: พื้นที่ที่คนใช้ขึ้น-ลงรถที่จอดชิดขอบทาง
  • Extension Zone: พื้นที่ที่พื้นที่ทางเท้าอาจถูกขยายเข้าไปในช่องจอดรถขนานถนน หรือทำ bulb-outs หรือแม้แต่ที่นั่งของร้านค้า (บางครั้ง City จะให้อำนาจเจ้าของอาคารใช้เป็นอะไรก็ได้ในสี่เหลี่ยมนั้น)

ดังนั้นจะไปคิดแบบกำปั้นทุบดินว่าทางเท้ามีไว้ให้คนเดินผ่าน เป็น Throughway Zone อย่างเดียวไม่ได้ การเข้าใจว่าเลนรถ3–4เลนที่มากดดันความขัดแย้งการต้องมีพื้นที่ Public realm ตรงนี้ทั้ง 5 จุดประสงค์จึงสำคัญ

Sidewalk Zones (Plan View) Better-Streets-Plan_Final-Adopted-10–7–2010.pdf (sfplanning.org)
Sidewalk Zones (Section View) Better-Streets-Plan_Final-Adopted-10–7–2010.pdf (sfplanning.org)

2. การขายอาหารข้างทาง

ผมก็ทราบดีว่า การให้คนมาขายอาหารข้างทางนั้นทุกวันนี้ก็ทำให้ คนเหล่านี้ทิ้งไขมันลงไปใน ท่อระบายน้ำ ที่มีไว้ระบายน้ำฝน เฉยๆ และรวมถึงไม่ได้มีการจ่ายค่าเช่า ทีนี้ผมอ่านดูโทนของหลายๆเพจ ตกลงแล้วคืออยากให้มีการจัดระเบียบ หรืออยากให้หายไปเลยกันแน่ จริงๆแล้วแค่อยากให้ฟรีพื้นที่ มีพื้นที่เดิน นั่นคือสิ่งที่โฟกัสใช่ไหม? คือเพจฟุตบาทเราไปสร้าง conflict คนเดินเท้า vs คนขายของบนพื้นที่ 0–2 ม. ทั้งที่ทั้งสองกลุ่มควรรวมพลังกันเรียกร้องให้ city ขยายทางเท้า โร้ดไดเอ็ตถนน ลดการให้พื้นที่รถยนต์ตั้ง 6–8 เลน การขายของ/ตั้งโต๊ะบนทางเท้านี่ ถ้าเราไปดู advocacy ที่ส่งเสริมการเดินการปั่นระดับสากล เขาต้องให้ business ได้พื้นที่มาทำที่นั่งแทนที่จอดหน้าร้านเสียด้วยซ้ำ (แน่นอนว่า Throughway ยังต้องมีไม่กีดขวางทางเท้า)

บางเมืองอย่างเช่นนิวยอร์กมีการเขียนชัดเจนและมีการให้ permits ในการขายอาหารสตรีทฟู้ดไปเลย และก็จะกำหนดจุดชัดเจน มีที่อยู่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร คือค่อนข้าง “เป็นระเบียบ” แบบที่แต่ละเพจต้องการ

นี่คือแนวทางที่จัดทำโดย New York City Health Department ซึ่งช่วยให้ผู้จำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ใช้งานตู้จำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ (รถเข็นหรือยานยนต์ รวมถึงรถบรรทุก) ได้อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการดูแลพนักงานและลูกค้าให้ปลอดภัยจากความเจ็บป่วยที่เกิดจากอาหารและหลีกเลี่ยงการละเมิดทั่วไป คู่มือนำเสนอเรื่องพื้นฐาน — regulations-for-mobile-food-vendors.pdf (nyc.gov)

เราอาจจะต้องมองถึงเรื่องการเชียร์ Mixed Use กันมากกว่านี้ด้วย ที่บางเพจหยิบเรื่องที่สิงคโปร์จัดการเอาร้านข้างทางมาเป็นสถานที่น่าเที่ยวได้ นั่น Mixed Use มันจะมีแนวคิดที่น่าส่งเสริมคือ Transit Oriented Developemnt แต่คงต้องไว้คราวหน้า และเดี๋ยวจะเชื่อมเรื่อง 15 min city ด้วย

ข้อเสนอที่ผมว่าดีที่สุด และเกี่ยวกับบทความที่เคยเขียนไปเรื่องประเภทถนน คือการทำ infill จัดให้เกิดย่านการค้าขายของแบบมีที่อยู่แทนเลนถนนไปเลย ย่อ highway ให้กลายเป็น street ข้ามง่ายๆไปในตัวด้วย เอาทางยกระดับออกไป ได้คืนมาได้จะแก้ปัญหาเรื่องการลดจำนวนรถด้วยตามหลัก Braess’s paradox และอาจขยับจุปลายทางมาใกล้ๆในระยะ 15 min city ได้อีก

3. Car Infrastructure

ประเด็นข้อที่หนึ่งและข้อที่สองผมเข้าใจดีว่ามันมาจากเรื่องที่ว่าคนเดินไม่ได้เดิน เพราะมันไม่มีที่ให้เดิน แต่มันก็กลับมาเรื่องที่ผมจะพูดต่อไปนี้ว่า ตกลงแล้วเราจะไม่พูดถึงโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์เลยใช่ไหม คือคนที่ทำงานด้านนี้ส่วนมากเขาจะรณรงค์ เรื่องของการลดให้ความสำคัญของ โครงสร้างพื้นฐานรถยนต์ ซึ่งถึงแม้จะ ราคาไม่แพงในตอนสร้าง แต่แพงระยะยาวมาก ก็เป็น cost ต่อปีไปของซิตี้ และการพูดเรื่องทางเท้าและถนนเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะมันออกแบบด้วยกันอยู่ใน Elevation อยู่แล้ว (ถ้าไม่คุ้นเคบแบบก่อสร้างทางวิศวกรรม สถาปัตยกรรม Elevation คือหน้าตัดมองตรงระดับพื้น)

ผมเคยเขียนบทความเรื่องนี้ไปเหมือนกันเรื่องการใช้ดีไซน์ถนนผิดๆของประเทศไทย ผมก็อยากจะเตือนสติ แฟนเพจทั้งหลายว่า โครงสร้างพื้นฐาน คนเดินเท้า ไม่ได้มีแค่ทางเท้า แต่เป็นเรื่องของทางข้ามและการใช้สอยที่ดิน บทสนทนาเกี่ยวกับ การทำ Traffic Calming เช่น Road Diet ในหลายๆที่ ลดเลนขยายทางเท้า การทำลูกระนาด Speed hump/ Spee bump/ Speed table การให้/ไม่ให้พื้นที่จอดรถข้างถนน การส่งเสริมให้แปลงที่จอดรถกินที่เป็นแบบยกขึ้นหรือลงดินเพื่อใช้สอยสาธารณอื่นๆ เรื่องเหล่านี้ยังขาดไป เยอะมากๆในโพสต์ทางเท้าไทย เรื่องรถมันเกี่ยวพันกับความปลอดภัยคนเดินเท้าด้วยแบบหนีไม่พ้น ทางเท้าดีมีคุณภาพไม่สะดุดแต่เรื่องพวกนี้ไม่แก้มันก็เหมือนเดิม

4. เข้าใจ Transport Modeling, เข้าใจ Paradox

หลัๆมี 2 เรื่อง ก่อนอื่น คำพูดที่ผมมักเห็นบ่อยๆคือ “เสียช่องจราจร” ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีอะไรมาจอดก็ตาม เอาจริงก็ต้องดูเป็นกรณีไป แต่ส่วนมากที่ผมเห็นคือเหมือนไปคิดว่ารถ flow เหมือนของไหล ซึ่งไม่ใช่เลย คนละโมเดลคณิตศาสตร์กัน การเติม capacity นี่แหละที่จะดึง induced demand ต่อมา ซึ่งมันจะตรงกันข้ามกับกรณีที่บางเมืองปิดถนนแล้วกลายเป็นโฟลวดีขึ้น นี่คือ Braess’s paradox.

มอเตอร์ไซค์เป็นสิ่งที่ใช้กันเยอะมากทั้งในไทยและหลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มอเตอร์ไซค์เข้ามาวิ่งบนทางเท้า แต่ก็ไม่ได้ ถึงกับ clueless เราต้องอย่าลืมว่ามนุษย์เราตัดสินใจเลือก อะไรก็ตาม บนพื้นฐานของโครงสร้างพื้นฐานที่เห็นกับตา มันจะมีกฎเขียนว่าอะไรบนกระดาษ ปัญหา “Stroad” คือสิ่งที่ควบคุมมอเตอร์ไซน์เยอะที่สุด เพราะสิ่งที่มอเตอร์ไซค์ทำได้จากการขี่ทางเท้าคือ หลีกเลี่ยงการกลับรถและจราจรรถ ซึ่งมันก็กลับมาเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานรถยนต์ที่ออกแบบมาผิดๆ ในข้อสามที่ผ่านมา การที่คนต้องกลับรถ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ธรรมดาหรือมอเตอร์ไซค์ก็ตาม แค่นี้จริงๆก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นใน Street สองข้างทางแล้ว (ชวนอ่านบทความเก่าๆผมเรื่องนี้ในมีเดียม)

ถ้ามีโอกาสผมก็อยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Traffic Network Assigment เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของพาราด็อกซ์ ที่น่าจะแก้ไขความเข้าใจหลายคนว่า การเพิ่มเลนถนนทำให้การจราจรดีขึ้น ซึ่งจริงๆหลายครั้งมันตรงกันข้าม เกริ่นคร่าวๆว่ามันมีคำว่า User Equilibrium (UE) หรือเอาแบบบ้านคือทุกคนเห็นแก่ตัวครับ แต่ละ path จะตรงกันข้ามกับ System Optimization (SO) — โอเค คงต้องไว้คราวหน้าแต่ที่จะสื่อคือ ดีที่สุดคือคิดถึงโครงสร้างพื้นฐานเน็ตเวิร์คเพื่อมอเตอร์ไซค์ด้วย ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แก้ได้ด้วยการแบน หรือการออกกฎหมายปรับจับอะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วมันคือเรื่อง ระบบเน็ตเวิร์คโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายไม่ได้คุมมนุษย์ได้เท่า Infrastructure ไม่ได้บอกว่าเรื่องของกฎหมายนโยบายไม่สำคัญนะ แต่เราก็จะหวังพึ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปโดยที่หน้าตาถนนเหมือนเดิมไม่ได้

5. การปั่นจักรยานได้ดูเหมือนจะหายไป

การคุยเรื่อง Bikeable City หายไปพอสมควร คนเดินกับจักรยานคือกลุ่มคนที่ไม่ควรแยกกัน ซึ่งจริงๆแล้วส่วนมากต่างประเทศเขาจะรณรงค์ไปด้วยกัน เป็นกลุ่มคนเดียวกัน การปั่นจักรยานในที่นี้ไม่ได้พูดถึงการปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายแต่พูดถึงการปั่นเพื่อเป็นการเดินทางในชีวิตจริงๆ และแน่นอนข้อนี้ก็กลับไปเรื่อง ของการออกแบบถนนอีกเช่นเคย หนีไม่พ้นโครงสร้างพื้นฐาน อันตรายไม่น่าปั่น? →โครงสร้างพื้นฐานมันดีไซน์มาอันตราย ร้อนเกินกว่าจะปั่น→โครงสร้างพื้นฐานมันดีไซน์มาเก็บความร้อนแต่แรก

หนีไม่พ้นโครงสร้างพื้นฐาน

Infrastructure Infrastructure Infrastructure

เพจทางเท้าไทยอาจจะต้องจับมือกับเพจปั่นจักรยานอื่นๆมากกว่านี้

6. นิยามทางเท้า พื้นที่เดินได้ ตรงไหน matter เป็นของใคร

*ที่เขียนตรงข้อนี้ ผมก็ไม่ได้จะเคลมว่าผมรู้ไปหมดว่าถนนเส้นเป็นของใครบ้าง ขนาดแค่เอา shapefile ที่มีระบุผมยังหาไม่ได้เลย*

รูปนี้ที่ที่กั้นรถไฟแห้งหนึ่งญี่ปุ่น จะเห็นว่าไม่ได้มีเส้นอะไรทุกซอย แต่ walkability ยังดีเดินได้แบบรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลายบรรยากาศ รถยนต์เป็นแขกมากกว่าเป็นตัวเอก ภาพจากเพจ japan aesthetic-

ทางเท้าเป็นเรื่องที่เชื่อมกับขนส่งสาธารณะแลที่อยู่อาศัย-ที่ทำงาน การพูดถึงปัญหาคนไร้บ้าน อสังหา คอนเซ็ป 15 min city อาจจะต้องคำนึงให้ priority เรื่องนี้ด้วย มากกว่าแค่ว่า “เป็นระเบียบไหม” — ถ้ามันเป็นระเบียบ สวย กว้าง ไม่มีสะดุด ไม่มีมอร์ไซต์ แต่ไม่เชื่อมต่อไปไหนในทีที่คนต้องไปแต่แรก มันก็คงไม่มีประโยชน์

คือผู้บริหารอำนาจท้องถื่นนั้นๆก็ต้องบริหาร priority ด้วยเงินที่มี ทีนี้คนนี้คือใครละ ส่วนมากคนที่ทำงานด้านนี้รณรงค์ด้านนี้ในต่างประเทศ เขากล้าที่จะด่าและเจาะจงไปที่ กระทรวงคมนาคม (DOT) หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของถนน การจราจร ในแต่ละเมือง ไปเลย จะไม่ค่อยมาทวีต/โพสต์แบบลอยๆ ยังไม่รู้จะด่าใคร ผมอยู่ Pittsburgh โดยส่วนมากเขาจะด่าไปเลยที่องค์กร ที่ทำงานด้านนี้ ที่นี่จะมีหน่วยงานที่ชื่อ DOMI (Mobility and Infrastructure — (pittsburghpa.gov)) หรืออย่างนิวยอร์กก็จะมี NYC DOT แยกออกมาจาก NY DOT ของนิวยอร์ก

กรณีที่ทางเท้าเป็นของเอกชน ส่วนมากคือก็ด่าหน่วยงานท้องที่แล้วให้หน่วยงานไปฟ้องเอกชน ทั้งนี้ผมก็ไม่คิดว่าผิดอะไรนะถ้าจะด่าเอกชนเลย (แต่ในฐานะคนต้องการ Data ผมว่าทำกับรัฐนั้นถูกแล้ว) แต่เรื่องที่ว่าตกลงใครคือคนที่กำลังด่ากันแน่ อยากให้คำนึงด้วย ไม่งั้นมันคือการด่าลอยๆกลางอากาศแบบคนทั่วไป เข้าใจอารมณ์นะ แต่มันจะไม่ค่อยได้อะไรต่อมาเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นเพจใหญ่แล้วผมว่ามันมี Responsibility ตามมา

ผมไม่รู้ว่าผมเขียนเรียบเรียงดีหรือเปล่านะครั้งนี้ เพราะนี่คือเรื่องที่ผมเขียนโดยเร็ว จากหัวของผม อย่างที่ผมบอกไปตอนแรกว่า ผมยังดีใจนะที่เรื่องของทางเท้ายังเป็นเรื่องที่สังคมไทยสนใจกันมากเป็นกระแส ทุกๆข้อที่เขียนว่านี้เขียนด้วยความหวังดี และหวังจะเห็นมูฟเมนต์นี้เจริญขึ้นต่อไป

สุดท้ายนี้ผมขอฝาก Resource ที่น่าสนใจน่าติดตาม เผื่อว่าแอดมิน หลายๆคนจะ เอาไปเสพกัน

Youtube

Twitter

Facebook

อ่านมาถึงจุดนี้ก็รบกวนช่วยกันกดฟอลเหล่านี้มีเดียมด้วยนะครับ ยอดฟอลมีเดียมสำคัญเสมือนเป็น Subscribe ในยูทูปเลย

--

--

Korawich Kavee

{+Youtube} เขียนเกี่ยวกับคมนาคม การพัฒนาเมือง เมืองอัจฉริยะ ระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน การสัญจรด้วยเท้าและจักรยาน GIS โยธา ผังเมือง เรียน/อยู่/เที่ยวต่างประเทศ